วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

Research and Knowledge Formation

นางสาวณิศวรา กลิ่นจันทร์ เลขที่35 ห้อง5/10
กลุ่มที่7
ปัญหาที่นักเรียนศึกษา...ปัญหาความเครียดจากการเรียน
ที่มาและความสำคัญของปัญหา
ปัจจุบันเยาวชนต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเรียน การศึกษาต่อ ปัญหาด้านเศรษฐกิจของครอบครัว ปัญหาด้านร่างกายที่กำลังเปลี่ยนแปลง ปัญหาด้านเพศ ปัญหายาเสพติด เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านั้นล้วนส่งผลต่อจิตใจและทำให้เกิดความเครียด ทางกลุ่มจึงมีแนวคิดที่จะนำเสนอปัญหาความเครียดจากการเรียน ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเยาวชนอย่างมากในปัจจุบัน โดยจะนำเสนอผ่านทางสื่อที่ทุกคนสามารถที่จะเข้าถึงได้ง่าย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดระหว่างผู้จัดทำและผู้เข้าชม
ดังนั้นทางกลุ่มจึงได้จัดทำหนังสั้นเรื่อง "THE part of my life" ขึ้นเพื่อสะท้อนถึงปัญหาความเครียดจากการเรียนในปัจจุบัน และปัจจัยรอบข้างที่ส่งผลให้เกิดความเครียด
วัตถุประสงค์
1.เพื่อศึกษาปัญหาความเครียดจากการเรียน
2.เพื่อเรียนรู้วิธีการสร้างภาพยนต์สั้น
ผลการศึกษา
   จากการศึกษาข้อมูลเรื่องความเครียดจากการเรียน และหลังจากการที่ได้ศึกษาข้อมูลแล้วได้รับความรู้ดังนี้
- สาเหตุของความเครียดของวัยรุ่นส่วนใหญ่เกิดจากภาวะการแข่งขันทางการเรียนที่สูงขึ้น
- ผลกระทบที่ตามมาจากความเครียดคือ การไม่มีสมาธิในการเรียน
- วัยรุ่นมองว่าพ่อแม่ คือผู้ที่เป็นสาเหตุแห่งปัญหาความเครียดและเป็นทุกข์ของพวกเขามากที่สุด แต่ในยามที่มีความทุกข์พ่อแม่กลับไม่ได้เป็นที่พึ่งในอันดับแรก แต่กลับเป็นเพื่อนๆของเขา 
- วัยรุ่นส่วนใหญ่จะคลายเครียดด้วยการฟังเพลง เล่นเกม ปรึกษาเพื่อน/ผู้ปกครอง เล่นกีฬาและอื่นๆ 
- วิธีการแก้ไขปัญหา คือการแก้ไขค่านิยมผิดๆในเรื่องการเรียน การแนะแนวให้กับวัยรุ่นและคนในครอบครัว การส่งเสริมกิจกรรมคลายเครียด การแนะนำให้รู้จักการจัดเวลาในการเรียน
เสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบด้วยองค์ความรู้จากการค้นพบ
   จากการศึกษาเรื่องปัญหาความเครียดจากการเรียน พบว่าเราสามารถเเก้ไขปัญหาได้โดยวิธีต่อไปนี้
1.สำรวจตัวเองว่าตัวเองจริงจังกับการเรียนจนเครียดเกินไปไหม
2.ถ้าพบว่าตัวเองเริ่มเครียดกับการเรียนมากเกินไปให้แบ่งเวลาไปทำกิจกรรมนันทนาการคลายเครียดบ้าง หรืออาจจะปรึกษาคนรอบข้างที่ไว้ใจได้เมื่อมีปัญหา
3.จัดการเวลาในการเรียนไม่ให้มากเกินไปน้อยเกินไป
4.ถ้าพบว่าตัวเองความเครียดที่เกิดขึ้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากตัวเองโดยตรงแต่มาจากคนรอบข้างให้ลองไปพูดคุยกับคนๆนั้น 
5.เมื่อมีเวลาว่างควรหาเวลาพูดคุยกับคนรอบข้าง หรือหากิจกรรมนันทนาการทำเพื่อลดปัญหาความเครียด
นักเรียนได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการเรียนวิชา IS1
- ได้เรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่ม
- ได้เรียนรู้วิธีการทำหนังสั้น
- ได้ฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ
- ได้ฝึกการศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง

วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความเครียดของเด็กไทย…จากระบบการศึกษาไทย


ทุกครั้งที่มีการประกาศผลสอบเข้ามหาวิทยาลัย สิ่งที่ตามมาก็คือจำนวนเรือนแสนของนักศึกษาที่พลาดโอกาสการศึกษาต่อในสถาบันที่ตนเองต้องการ และไม่ว่าจะเป็นเพราะระบบการสอบเข้า การเลือกคณะ หรือแม้กระทั่งความสามารถของตัวเด็กเองก็ตาม สิ่งที่ตามติดเป็นเงาตามตัวก็คือ "ภาวะความเครียด" ที่เกิดขึ้นทั้งกับตัวเด็กและผู้ปกครอง ทั้งก่อนการสอบ และหลังการประกาศผล
แต่ความเครียดที่เกิดขึ้นในวันนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น มันได้กระจายลงไปถึงการสอบเข้าของเด็กนักเรียนที่อายุเพียงแค่สามสี่ขวบในชั้นอนุบาล เด็ก ห้าหกขวบในชั้นประถม หรือสิบเอ็ดสิบสองขวบในชั้นมัธยมด้วย แม้กระทั่งการสอบระหว่างภาคการศึกษา ก็ทำให้เด็กนักเรียนและผู้ปกครองเห็นพ้องต้องกันว่า ความรู้ที่ได้จากในรั้วโรงเรียน เพียงลำพัง คงไม่เพียงพอต่อการก้าวสู่ความสำเร็จในระยะยาวเสียแล้ว ไม่รู้ด้วยเหตุผลกลใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ก็คือ สถานศึกษาในระบบไม่ได้ให้ "ความมั่นใจ" กับผู้คนในสังคมอีกต่อไป
นี่คือปัจจัยทางจิตวิทยาที่ทำให้โรงเรียนกวดวิชาต่างๆเกิดขึ้นราวกับดอกเห็ด "การกวดวิชา" กลายเป็นภาระและหน้าที่จำยอมของเด็กๆ ที่จะต้องหอบกระเป๋านักเรียนจากโรงเรียน มานั่งแออัดกันในเก้าอี้เล็กเชอร์ตัวเล็กๆตามโรงเรียนกวดวิชาชื่อดังต่างๆ โดยหวังเพียงว่า จะทำให้ได้มาซึ่งเกรดที่สูงขึ้นเมื่อถึงเวลาสอบ
เป็นที่น่าหดหู่ไม่น้อย ที่ชีวิตของเด็กไทยยุคนี้ถูกครอบงำด้วยทัศนคติแห่งความหวาดหวั่น และความกลัวว่าจะด้อยกว่าคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้เยาวชนมีชีวิตที่คร่ำเคร่ง เวลาส่วนใหญ่จมหายไปกับตำราเรียน ความสนุกสนานตามวัย และการได้วิ่งเล่นตามตรอกซอกซอยกับเพื่อนบ้านนั้น กำลังจางหายไปจากสังคมไทยอย่างน่าเสียดาย
ด้วยความที่ทัศนคติและความคาดหวังต่อ "การศึกษา" ในวันนี้ผูกติดกับ "ผลการสอบ" มากกว่า "ความสุขที่แท้จริงตามวัย" จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ "ความเครียด" ได้พัฒนากลายมาเป็นเงาตามตัวของเยาวชนไทยแทบจะในทุกระดับอายุ เราเริ่มได้เห็นได้ยินข่าวความน่าสลดใจของเยาวชนไทย ที่คิดสั้น เพียงเพราะผิดหวังจากคะแนนสอบบ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ นั่นทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ระบบการศึกษาของเรานั้นเดินมาถูกทางแล้วจริงหรือ ชาติไทยเราวันนี้พัฒนาก้าวไกลไปอย่างมากในหลายๆด้าน แต่ในด้านการศึกษาและการเรียนรู้นั้น กลับมีคำถามเกิดขึ้นว่า "เรากำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ควรจะเป็นหรือไม่" เยาวชนไทย โดยเฉพาะในวัยก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ถูกอัดฉีดในเชิงวิชาการอย่างเข้มข้น ด้วยวิธีการโคลนนิ่งตำรับตำราเข้ามาใส่ในหัวสมอง ท่องคำตอบที่ถูก จำคำตอบที่ผิด ก๊อปปี้สูตรสำเร็จ วิธีคิด และวิธีทำ ที่ครูสอนพิเศษทั้งย่อยให้และป้อนให้ หากแต่วิธีการถ่ายทอดความรูู้แบบดังกล่าวนั้น หาใช่การเรียนรู้ในเชิงสร้างสรรค์ไม่ เพราะทั้งหัวสมองและหัวใจของเด็กไทยจะขาดแคลนซึ่ง "จินตนาการ" และ "ความกล้า" ที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในแบบฉบับของตัวเอง
ในขณะที่เมื่อเราเหลียวมองเด็กนักเรียนที่ก้าวออกจากรั้วโรงเรียนนานาชาติ เรากลับได้เห็นผลงานของเด็กอายุ 16 ที่เรียนรู้เรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ บางคนมีงานภาพพิมพ์ที่สวยงาม บางกลุ่มมีความรู้ทางการตลาดประหนึ่งว่าได้เรียนมหาวิทยาลัยมาแล้ว หลักสูตรการเรียนการสอนที่เด็กในโรงเรียนนานาชาติได้รับนั้น ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการต่อยอดแนวความคิดและจินตนาการที่สดใหม่ของเด็กๆเอง เปิดช่องทางให้เกิดการค้นหา นำไปสูู่การค้นพบตนเอง รู้จักตัวตนที่แท้ของตน ก่อนจะก้าวเข้าสู่การเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาต่อไป นี่แหละที่เรียกว่า "การศึกษาพร้อมการเรียนรู้" ไม่ได้สร้างความกดดันแต่สร้างบรรยากาศที่ดีในการศึกษา ทำให้เด็กสนุกที่จะเรียนรู้และค้นคว้าสิ่งใหม่ ซึ่งในวิถีการเรียนการสอนแบบนี้ ข้อสอบส่วนใหญ่ก็จะต้องเป็นแบบอัตนัย มีการบรรยายถึงตรรกะ มีการแสดงออกทางความคิด ไม่ใช่ข้อสอบแบบปรนัย ที่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงข้อเดียว
ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด เราไม่ได้ฟันธงว่า วันนี้โรงเรียนนานาชาติทั้งหมดดีกว่าโรงเรียนไทยแล้ว เพราะก็ยังมีโรงเรียนนานาชาติหลายแห่งที่อาจจะไม่ได้มาตรฐาน อีกทั้งโรงเรียนไทยหลายๆแห่งก็เป็นแหล่งการศึกษาที่ดี แต่หัวใจหลักที่เราอยากเน้นย้ำ ณ วันนี้ก็คือ ขุมทรัพย์ทางการเรียนรู้นั้นไม่ได้มีอยู่แค่ในตำราเรียนเพียงอย่างเดียว การได้เกรด 4 ไม่ใช่มาตรวัดเดียวที่เด็กๆควรยึดถือ
การศึกษาไทยในวันนี้ไม่ควรจบอยู่แค่ในห้องสี่เหลี่ยม แต่ควรเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เด็กไทยได้ค้นพบตัวเองมากขึ้น ประกอบกันนั้นก็ต้องมีบุคคลากรทางการศึกษาที่สามารถให้คำแนะนำในเชิงสร้างสรรค์ได้ เป็นภาระหน้าที่ของครูที่ปรึกษาและครูแนะแนวที่จะต้องผลักดันให้เด็กค้นหาตัวเอง หาคำตอบจากข้างในตนเองว่า "สาขาวิชาใดที่เขารักและถนัด" หรือ "วิชาชีพใดที่เขาจะมีความสุขกับมันได้ไปตลอดรอดฝั่งในอีกห้าหกสิบปีข้างหน้า" เป็นต้น

Cr.http://www.tcdc.or.th/src/17150

'วัยรุ่น' ร้อยละ 15-20 เสี่ยงซึมเศร้า หลังปัญหาการเรียนทำเครียด

จิตแพทย์ เผยขณะนี้พบวัยรุ่นมีปัญหาการเรียนร้อยละ 15-30 แนะพ่อปรับทัศนคติลูกเรียนเก่ง สอบเอนทรานซ์ติด สร้างความเครียดให้วัยรุ่น โดยเฉพาะช่วงเตรียมสอบเข้าระดับอุดมศึกษา แนะสนับสนุนลูกเป็นคนดี ล่าสุดพบเด็กเครียดสะสมรุนแรง เสี่ยงเป็นโรควิตกกังวลและซึมเศร้าจนถึงวัยผู้ใหญ่ แล้วร้อยละ 15-20 แนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-5 ต่อปี
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 56 แพทย์หญิงทิพาวรรณ บูรณสิน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นชำนาญการ ประจำสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในช่วงนี้วัยรุ่นใกล้การสอบเอ็นทรานซ์ เพื่อเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งความคาดหวังเรื่องการเรียนของพ่อแม่เป็นเหมือนกันทุกบ้าน บางคนคาดหวังโดยไม่เข้าใจศักยภาพของลูกว่า มีมากน้อยแค่ไหน ถ้าความคาดหวัง กับความเป็นจริง ไม่สอดคล้องกัน ก็จะกลายเป็นความกดดันให้ลูก ขณะเดียวกัน เด็กทุกคนต้องการการยอมรับจากพ่อแม่ และหากพ่อแม่มีความคาดหวังมาก เด็กพยายามทำเต็มที่แล้ว แต่ผลออกมาได้ไม่ดีตามที่คาดหวัง เด็กจะเกิดความทุกข์ใจ เกิดความกดดัน เสี่ยงเรื่องความซึมเศร้า วิตกกังวล
"ศักยภาพของคนมีไม่เท่ากัน คลินิกสุขภาพจิตวัยรุ่นของสถาบันฯ พบวัยรุ่นมีปัญหาการเรียนมารับการปรึกษาร้อยละ 15-30 ถือว่ามากพอสมควร บางคนฉลาดแต่สมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งต่างๆได้นาน หรือบางคนมีความบกพร่องด้านทักษะการเรียนรู้ แม้จะพยายามแล้วแต่ก็ยังไม่เข้าใจ ซึ่งพบได้ร้อยละ 5 เด็กกลุ่มนี้จะต้องการการช่วยเหลือทักษะการเรียนเป็นพิเศษรายบุคคล และเป็นปัญหาสะสมตั้งแต่วัยเรียน วัยประถม พ่อแม่ต้องปรับทัศนคติ โดยเฉพาะค่านิยมเด็กเรียนเก่ง เรียนดี และสอบเอ็นทรานซ์ติด ต้องให้กำลังใจเด็ก เข้าใจเด็ก มีข้อบกพร่องด้านใดต้องพยายามช่วยประคับประคองเด็กตั้งแต่ยังเล็ก ก็จะช่วยลูกลดความเครียดสะสมในเรื่องการเรียนได้ เด็กที่ผิดหวังบ่อยๆ เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งขณะนี้พบได้ร้อยละ 15-20 และแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละประมาณร้อยละ 3 ต่อปี นอกจากนี้ยังทำให้เกิดโรควิตกกังวล เด็กขาดความมั่นใจ ขาดความเชื่อมั่นและขาดความศรัทธาตนเอง ขาดศรัทธาในการทำสิ่งดีๆ อีกต่อๆ ไป ซึ่งอันตรายมากเปรียบเสมือน การขาดภูมิคุ้มกันทางจิตใจ เด็กหลายคนอาจมีความประพฤติเด็กเปลี่ยนไปในทางตรงข้าม เช่น จากความประพฤติเรียบร้อยกลายเป็นแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ต่อต้าน เกเร ต่อต้านสังคม เสี่ยงกระทำผิดกฎหมายได้ เป็นต้น" แพทย์หญิงทิพาวรรณกล่าว 
แพทย์หญิงทิพาวรรณ กล่าวต่อว่า พ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่นมักเจอกับปัญหาความไม่เข้าใจกัน เพราะวัยห่างกัน อาจจะทำให้เด็กไม่กล้าที่จะปรึกษา ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ต้องทำอย่างแรกเมื่อลูกเดินเข้ามาปรึกษาปัญหา คือ 1.ต้องให้เวลาลูก 2.ตั้งใจฟังสิ่งที่ลูกพูด ฟังโดยใช้สติ ไม่ด่วนตัดสิน อย่าใช้อารมณ์ 3.ให้กำลังใจและหาทางออกให้เด็กเมื่อเด็กต้องการ  สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งคือ อย่าพูดคำว่าเดี๋ยว เพราะวัยรุ่นอาจจะรอไม่ได้ และหากเด็กไม่ได้รับคำปรึกษาจากพ่อแม่แล้ว เด็กก็จะหันไปปรึกษาเพื่อนๆแทน และได้ทางออกในทางที่ไม่เหมาะสม หรือในกรณีที่เด็กอาจรู้สึกผิดอยู่แล้ว และเมื่อปรึกษาพ่อแม่แล้วโดนตำหนิกระหน่ำซ้ำเติม ครั้งต่อไปเด็กก็จะปิดบัง ไม่บอกหรือหันไปต่อต้านพ่อแม่ ทำตามเพื่อนในทางที่ไม่ดี ดังนั้นพ่อแม่จึงเป็นบุคคลที่สำคัญมากในการเป็นที่ปรึกษา ช่วยลดความเครียดให้เด็ก มีงานวิจัยพบว่าเด็กที่ถูกทำโทษหรือครอบครัวใช้ความรุนแรงตั้งแต่วัยเด็ก จะส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ ที่สำคัญคือ ส่งผลกระทบต่อสติปัญญา อารมณ์และสมาธิความจำ
แพทย์หญิงทิพาวรรณ ยังกล่าวอีกว่า ในการสร้างค่านิยมใหม่ของพ่อแม่ ควรสนับสนุนเรื่องการเป็นคนดี มีพฤติกรรมดี มีระเบียบวินัย ซื่อสัตย์ อดทน มีน้ำใจ มากกว่าจะดูที่ผลการเรียน เพราะคะแนนเป็นเพียงตัวเลข ควรดูที่ความพยายามของลูก และช่วยพัฒนาจุดอ่อนทางการเรียนรู้  เช่น บางคนอ่านไม่เก่งจับใจความไม่ได้ ก็ควรช่วยชี้แนะให้ทำสรุป ทบทวน ให้กำลังใจและชมเมื่อลูกได้แสดงความพยายาม บางคนสมาธิความจำไม่ดี วอกแวกได้ง่าย อาจจะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและดูแลช่วยเหลือเฉพาะด้าน
"การสอบเอ็นทรานซ์เป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งในชีวิต ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต และคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตคือ "คนดี" มีความรับผิดชอบ เข้ากับคนอื่นได้ง่าย เป็นที่ยอมรับของสังคม ไม่ใช่เฉพาะ "คนเก่ง" เท่านั้น ดังนั้นเด็กที่กำลังอยู่ในวัยศึกษาการเรียนถือว่าเป็นหน้าที่หลักต้องอดทนและพยายาม พ่อแม่ควรให้กำลังใจลูกตั้งแต่เด็กอย่างสม่ำเสมอ สัมพันธภาพที่ดีเปรียบเสมือนเป็นวัคซีนทางใจ วัคซีนสำหรับชีวิตแก่ลูก

Cr.http://www.thairath.co.th/content/389524

การเรียนมัธยมปลายขณะวัยรุ่น

ปัจจุบันการเรียนในชั้นมัธยมปลายสายวิทยาศาสตร์ให้ดีนั้นมีความยากมาก ทั้งนี้เพราะเนื้อหาในแต่ละวิชาได้ลงไปลึกกว่าในอดีต หลายๆวิชาจะต้องอาศัยการอ่านและการท่องจำ เช่น ชีววิทยา ภาษาไทย และสังคมศึกษา ในขณะที่วิชาที่ต้องการใช้การคำนวณ เช่น คณิตศาสตร์ เคมี และฟิสิกส์จำเป็นต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและทำแบบฝึกหัด นอกจากนี้วิชาเหล่านี้ก็ยังยากเกินกว่าที่พ่อแม่จะอธิบายให้ลูกเข้าใจได้ ความยากของวิชาเหล่านี้อาจทำให้ครูอีกจำนวนมากที่สอนวิชาเหล่านี้ไม่สามารถ เข้าใจวิชาที่สอนได้อย่างลึกซึ้ง ลูกจึงค่อนข้างจะโดดเดี่ยวเมื่อเรียนมาถึงชั้นนี้ ในขณะที่ลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น จิตใจและอารมณ์จะไม่เหมือนช่วงชั้นมัธยมต้น ลูกจะอ่อนไหวได้ง่ายมีการตอบสนองต่อความผิดหวังและความเครียดได้อย่างรุนแรง การเลี้ยงลูกในวัยนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อพ่อแม่เป็นอย่างยิ่ง ความเอาใจใส่ลูกในระยะนี้จึงควรจะมากขึ้นเป็นทวีคูณ และต้องให้เวลาในการเลี้ยงดูมากกว่าในทุกๆวัยที่ผ่านมา
พ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูกด้วยความใกล้ชิดมาตลอดเวลานั้นจะเริ่มสังเกตได้ว่าลูก มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยนี้เป็นอย่างมาก ลูกจะเริ่มมีความคิดเห็นเป็นของตัวเองมากขึ้น พ่อแม่ที่เคยเลี้ยงลูกด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ อาจจะเริ่มสังเกตว่าลูกไม่ยอมทำตามบ้างในบางครั้ง ในขณะที่พ่อแม่เป็นห่วงปัญหาภัยจากสังคมต่างๆ ที่รายล้อมลูก แต่ลูกเองก็หารู้ถึงภัยเหล่านั้นไม่ แต่กลับมีความอยากรู้อยากเห็นหรืออยากทำสิ่งต่างๆตามความคิดของตนเอง ความใกล้ชิด ความรัก และความเข้าใจลูกของพ่อแม่ตั้งแต่เล็กเรื่อยมาจนปัจจุบันจะช่วยคลี่คลายความ ไม่เข้าใจในขณะนี้ได้ แต่ถ้ามีการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าในขั้นตอนใดก่อนหน้านี้ ปัญหานั้นก็อาจจะระเบิดในช่วงนี้ และปัญหานั้นอาจหมายถึงอนาคตหรือชีวิตของลูกเลยก็ว่าได้
อย่าลืมว่าขั้นสุดท้ายของการเรียนในชั้นนี้คือ การสอบโอเน็ทและเอเน็ท รวมทั้งการสอบวัดความรู้พื้นฐานในแต่ละสายวิชาชีพ สิ่ง นี้คือสิ่งที่กดดันลูกอยู่ตลอดเวลา ลูกมักไม่พูดออกมา แต่อาจแสดงออกมาทางด้านอื่น เช่น อาการปวดหรือมึนศีรษะ การนอนไม่หลับ ความกังวลกับการเรียน อาการอาจจะมากจนทำให้อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง และต่อเนื่องจนถึงขั้นไม่อยากอ่านหนังสือ แล้วหาทางออกโดยการดูทีวีหรือเล่นคอมพิวเตอร์มากขึ้น อารมณ์ของลูกอาจจะอ่อนไหวกว่าปกติ มีอะไรขัดใจก็อาจจะโกรธหรือเสียใจมากเกินกว่าเหตุ พ่อแม่ที่ดูแลลูกในระยะ 2-3 ปีนี้ จึงควรระมัดระวังคำพูดรวมทั้งหมั่นสังเกตความผิดปกติของลูก ควรสืบค้นเพื่อจับให้ได้ว่าสาเหตุของความเครียดนั้นคืออะไร และมีหนทางใดที่จะช่วยแก้ไขหรือทำให้เบาบางลงได้ ขอให้ทำตัวเป็นผู้สนับสนุน ไม่ใช่ทำตัวเป็นคนชี้แนะหรือสั่งสอนใดๆ เพราะปัญหาการเรียนของลูกครั้งนี้ใหญ่หลวงยิ่งนัก ลูกต้องอ่านและต้องทำความเข้าใจในตำราต่างๆเอง การสนับสนุนเขานั้นสามารถทำได้หลายทาง ทั้งนี้ขึ้นกับสถานการณ์ในแต่ละขณะ
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเข้าสอบแข่งขันของลูก ก็คือ อย่าขีดเส้นว่าลูกต้องได้คะแนนเท่าไร หรือควรได้คณะอะไร โดยการเอารางวัลเข้าล่อ เพราะอาจจะทำให้ลูกผิดหวัง รวมทั้งลูกอาจรู้สึกว่าตัวเองผิดที่ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง ไม่ควรแสดงออกมาให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่หวังให้ลูกได้อะไร พ่อแม่ควรเป็นเพียงกองหนุนให้ลูกเป็นผู้ขีดความหวังเอง โดยพ่อแม่พยายามหาทางออกให้ลูกในกรณีที่ลูกผิดหวังจากการสอบ โดยแสดงให้ลูกรู้อยู่เสมอว่า พ่อแม่จะไม่เสียใจกับผลสอบของลูกเลย ไม่ว่ากรณีใดๆ โดยได้เลือกสถานที่เรียนที่อื่นเผื่อไว้แล้ว ทั้งนี้ถ้าได้ปรึกษากับลูกล่วงหน้าก็จะเป็นการดี ให้เขาเป็นคนเลือกช่องทางเองว่าจะไปเรียนอะไรในกรณีที่ไม่ได้อันดับต้นๆ ขอให้พ่อแม่แสดงออกอย่างจริงใจว่าผลจะออกมาอย่างไร พ่อแม่ก็ยังพอใจในตัวลูก ยังคงรักลูกและรักลูกมากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ รักในความอุตสาหะตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านไป หรือตลอดเวลาที่ลูกได้ร่ำเรียนมาอย่าลืมว่าถึงแม้ลูกจะขะมักเขม้นกับการ เรียนมากแค่ไหน ก็ไม่ควรทิ้งกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นงานกลุ่ม งานห้อง งานโรงเรียน หรืองานกีฬา ถ้าลูกมีความชำนาญด้านใดก็ให้ช่วยงานตามความสามารถ เวลาที่เสียไปกับการงานเหล่านี้ไม่มากเลย ควรจะถือเป็นการคลายเครียดเพื่อมิให้หมกมุ่นแต่การเรียนอย่างเดียว ในทางตรงกันข้าม การทำกิจกรรมเหล่านี้กลับจะส่งผลดีต่อการเรียน เพราะสมองได้พักมาทำกิจกรรมด้านอื่นสักครู่ แล้วจึงกลับไปอ่านหนังสือในภายหลัง
การเรียน 3 ปีสุดท้ายในชั้นมัธยมนี้ถือว่าเป็นช่วงที่มีความเครียดมากที่สุด และเกิดขึ้นในขณะที่ลูกเป็นวัยรุ่น วัยที่เริ่มจะเติบโตเต็มวัยเมื่อมาพบมรสุมชีวิตเช่นนี้ ความผิดหวังครั้งแรกของลูกอาจร้ายแรงจนถึงขั้นที่ลูกอาจรับไม่ได้ ขอให้ระวังความผิดหวังครั้งแรกของลูกให้ดี อย่าลืมว่าการแข่งขันทุกครั้งย่อมมีผู้สมหวังและ ผู้ผิดหวังอย่ามองโลกด้านเดียวว่าลูกจะสมหวังทุกครั้งให้ทางออกแก่ลูกในกรณีที่ผิดหวังจากการแข่งขันทุกครั้ง ถ้าลูกสามารถรับความผิดหวังที่เกิดขึ้นได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อลูกในการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต ถ้าตลอดชีวิตที่ผ่านมาลูกมีแต่ความสมหวังก็อาจจะไม่ดี เพราะจะไม่มีทางทราบเลยว่าลูกจะรับมือกับความผิดหวังครั้งแรกและครั้งร้ายแรงอย่างไร เพราะถึงอย่างไร สักวันหนึ่งลูกก็จะต้องพบกับความผิดหวัง การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีมาตลอดตั้งแต่เล็กจะเป็นเกราะป้องกันความผิดหวังต่างๆ ลูกจะมองโลกแต่ในด้านดีตลอด สำหรับความสำเร็จในด้านการศึกษาของลูกนั้นต้องยกให้กับความอุตสาหะตลอด 12 ปีของลูก ที่ลูกจะต้องนำมาดัดแปลงให้เข้ากับการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย บทบาทของพ่อแม่หลังจากนี้จึงควรเฝ้าดูการใช้ชีวิตของลูกอยู่ห่างๆ และคอยแนะนำหรือช่วยเหลือเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น

Cr.http://satitapp.kus.ku.ac.th/guidance/story-10.html

เจาะใจวัยรุ่นผ่านผลโพลล์

วัยรุ่นเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่งของชีวิตมนุษย์ เพราะเป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านร่างกายและสภาพจิตใจจากความเป็นเด็กสู่ความเป็นผู้ใหญ่ โดยเริ่มผละจากอกพ่อแม่ไปสู่โลกภายนอกที่ต้องเรียนรู้ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆด้วยตนเองและพร้อมจะรับสิ่งใหม่ๆเข้ามาในชีวิตอย่างง่ายดาย ช่วงชีวิตวัยรุ่นจึงเป็นช่วงของการลองผิดลองถูกและมีโอกาสตัดสินใจผิดพลาดได้ง่ายหากขาดการชี้นำในทาง
ที่ถูกที่ควร หรือขาดหลักยึดเหนี่ยวทางใจที่มั่นคงเพียงพอ ดังจะเห็นได้จากข่าวคราวด้านลบเกี่ยวกับวัยรุ่นไทยในปัจจุบันที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับยาเสพติด พฤติกรรมทางเพศ การใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อยึดติดวัตถุ การขาดความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมรอบข้างรวมถึงการแก้ปัญหาต่างๆด้วยความรุนแรง   เป็นต้น จนทำให้หลายฝ่ายอดเป็นห่วงกังวลถึงอนาคตของประเทศชาติที่ฝากไว้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้เสียไม่ได้ อย่างไรก็ตามท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลาย เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาของวัยรุ่นก็คือ ภาพสะท้อนของปัญหาสังคมไทยนั่นเอง
ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ สถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลเพื่อรับทราบสถานการณ์เกี่ยวกับปัญหาความทุกข์ และทางออกของวัยรุ่นไทย เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิดและพฤติกรรมของวัยรุ่นไทย โดยสุ่มตัวอย่างจากผู้ที่มีอายุ 15 - 22 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ในแต่ละภาคของประเทศ  ได้แก่ เชียงใหม่ อุบลราชธานี จันทบุรี และสงขลา ระหว่างวันที่ 9 - 17 พฤศจิกายน 2547 ได้ตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 1,850 คน เป็นชาย ร้อยละ 44.1 หญิง ร้อยละ 55.9
ผลการสำรวจพบว่า วัยรุ่นถึงร้อยละ 87.5  ระบุว่าในช่วงระยะ 3 เดือนที่ผ่านมาได้ประสบกับปัญหาที่ทำให้รู้สึกเครียด เป็นทุกข์ และวิตกกังวลอันส่งผลต่อสภาพจิตใจและการดำเนินชีวิต โดยวัยรุ่นที่อยู่กับพ่อหรือแม่ที่แยกกันอยู่มีปัญหาความเครียดและเป็นทุกข์มากที่สุด ทั้งนี้วัยรุ่นที่อยู่กับพ่อมีปัญหาร้อยละ91.3 และอยู่กับแม่มีปัญหาร้อยละ90.7
เมื่อพิจารณาตามระดับการศึกษา พบว่า วัยรุ่นที่ศึกษาในระดับมัธยมศึกษา มีปัญหาความเครียดและเป็นทุกข์มากที่สุดคือ ร้อยละ89.3 รองลงมาคือ กลุ่มที่ไม่ได้ศึกษาแล้ว ร้อยละ 87.9 ระดับปริญญาตรี ร้อยละ 87.5 และระดับปวช./ปวส. ร้อยละ 85.5
ทั้งนี้การที่วัยรุ่นในระดับมัธยมศึกษามีปัญหาความเครียดและเป็นทุกข์มากที่สุดน่าจะเป็นเพราะเพิ่งย่างเข้าสู่วัยรุ่นจึงต้องปรับตัวในหลายๆเรื่อง ประกอบกับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาต้องรับภาระด้านการเรียนที่ค่อนข้างหนักเพื่อเตรียมตัวสอบเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย จึงมีปัญหาความเครียดและเป็นทุกข์กังวลมากกว่ากลุ่มอื่น
เมื่อถามวัยรุ่นถึงปัญหาที่ทำให้เครียดและเป็นทุกข์ พบว่า อันดับแรกคือ ปัญหาเรื่องการเรียน รองลงมาได้แก่ ปัญหาการเงิน ปัญหาความรัก ปัญหาการคบเพื่อน ปัญหาครอบครัว ปัญหาสุขภาพ ปัญหาการพนัน ปัญหาการไม่มีสิ่งของแบบที่คนอื่นมี และปัญหายาเสพติด ตามลำดับ
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบระหว่างวัยรุ่นชายกับหญิงพบว่า ทั้งสองเพศมีความเครียดและเป็นทุกข์จากปัญหาด้านการเรียนเป็นหลัก และรองลงมาคือ ปัญหาด้านการเงินเหมือนกัน แต่ปัญหาอื่นๆที่เหลือนั้นวัยรุ่นชายจะมีปัญหาด้านการพนัน เพศสัมพันธ์  และยาเสพติดมากกว่าขณะที่เพศหญิงจะมีปัญหาด้านสุขภาพมากกว่า
สำหรับสาเหตุของความเครียดและเป็นทุกข์ที่ประสบอยู่นั้น ร้อยละ 31.1 บอกว่าเกิดจากการกระทำของตัวเอง ขณะที่ร้อยละ 17.7เกิดจากการกระทำของผู้อื่น และร้อยละ 49.9 เกิดจากการกระทำของทั้งตัวเองและผู้อื่นร่วมกัน
ในส่วนของวัยรุ่นที่บอกว่าสาเหตุของความเครียดและเป็นทุกข์เกิดจากการกระทำของตัวเอง ให้รายละเอียดว่าเกิดจากการขาดวินัยและความรับผิดชอบ ร้อยละ 30.1  ขาดการยั้งคิดหักห้ามใจ ร้อยละ 24.3 ประมาทรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ร้อยละ 17.1 ดื้อรั้นต้องการเอาชนะ ร้อยละ 16.7ด้อยความสามารถ ร้อยละ 9.8   และอื่น ๆ อีกร้อยละ 2.0
ผลสำรวจดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าอย่างน้อยที่สุดวัยรุ่นไทยก็ยังรู้จักมองตัวเอง และยอมรับในข้อบกพร่องของตัวเองไม่ได้คอยแต่จะโทษผู้อื่นหรือโทษสภาพแวดล้อมเพียงอย่างเดียว

Cr.http://research.bu.ac.th/extra/article018.html

การศึกษาและค่านิยมของวัยรุ่นในปัจจุบัน

วัยรุ่นหรือที่เรียกว่า วัยแตกเนื้อหนุ่มสาวเป็นช่วงรอยต่อระหว่างวัยเด็กตอนปลายและวัยรุ่นตอนต้น หมายถึง ช่วงเวลาที่อวัยวะสืบพันธุ์มีความพร้อมที่จะทำงานได้เต็มที่ช่วงวัยรุ่นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงและมีพัฒนาการในด้านต่างๆ ซึ่งจะแสดงออกมาทั้งทางกาย ทางจิตใจ และทางสติปัญญา ดังนั้นในช่วงวัยรุ่นจึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการปลูกฝังการเรียนรู้และการปฏิบัติตนให้วัยรุ่นกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต
ปัจจุบันโลกของเราได้ให้ความสำคัญทางด้านการศึกษามากยิ่งขึ้น มีการส่งเสริมการศึกษาด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียนการสอนยุคปัจจุบัน จึงทำให้เกิดการแข่งขันมากยิ่งขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต วัยรุ่นก็เป็นกลุ่มบุคคลที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา เนื่องจากเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ มีความอยากรู้อยากลอง ดังนั้นเทคโนโลยีจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของวัยรุ่น อาทิ Facebook Twitter MSN รวมไปถึงเว็บไซต์ที่ให้ความรู้ความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ ทำให้การศึกษาของวัยรุ่นเป็นการศึกษาควบคู่ไปกับเทคโนโลยีที่เปิดกว้างมากกว่าบทเรียนในตำรา สิ่งต่างๆบนโลกใบนี้ไม่มีสิ่งใดที่จะสมบูรณ์แบบและดีทุกด้านเทคโนโลยีก็เช่นกันหากไม่รู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์ย่อมส่งผลร้ายต่อผู้บริโภค วัยรุ่นหลายต่อหลายคนตกเป็นทาสของเทคโนโลยี บ้างติดเกม บ้างติด Facebook ติดโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น จึงทำให้วัยรุ่นเหล่านั้นขาดการแสวงหาความรู้เพื่อการศึกษา ผลการเรียนตกต่ำ บางคนติดเกมจนก้าวร้าวมีอารมณ์รุนแรง เพราะการเลียนแบบตัวละครในเกม สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นเพียงผลกระทบส่วนหนึ่งจากการใช้เทคโนโลยีอย่างไม่เหมาะสม ยังมีผลกระทบอีกมากมายที่เกิดจากเทคโนโลยี หากเราใช้เทคโนโลยีอย่างพอดี ไม่มากจนเกินไป ตั้งตนอยู่บนทางสายกลาง จึงจะทำให้เราและเทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน
วัยรุ่นในปัจจุบันมีการเลียนแบบการบริโภคนิยมมากขึ้น เนื่องจากสื่อทางโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต และจากหนังสือนิตยาสารต่างๆที่มีอิทธิพลต่อการแต่งกายของวัยรุ่น โดยเฉพาะการแต่งกายเลียนแบบดาราทั้งในละต่างประเทศ จึงทำให้ขนบธรรมเนียม ประเพณีไทยอันดีงามเริ่มจะถูกกลืนหายไป ปู่ย่าตายายผู้เฒ่าผู้แก่มักจะสอนเด็กๆว่าเราเป็นคนไทยต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ให้ถูกกาลเทศะ โดยเฉพาะผู้หญิงที่จะต้องมีกิริยามารยาทนุ่มนวลอ่อนหวานแล้วยังจะต้องแต่งกายให้มิดชิด อย่าได้นุ่งน้อยห่มน้อยมันไม่งามตา เขาจะหาว่าเราไม่รักนวลสงวนตัว ซึ่งคนไทยในปัจจุบันได้หลงลืมความเป็นไทยที่มีมาแต่ช้านาน หลงรับเอาวัฒนธรรมต่างประเทศมาเป็นสิ่งยึดถือ วัยรุ่นส่วนใหญ่ในปัจจุบันนิยมนุ่งกางเกง หรือกระโปรงสั้น สวมเสื้อสายเดี่ยว เสื้อคอกว้าง ตามแบบสมัยนิยม ผู้เขียนได้มีโอกาสเห็นวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งนุ่งกางเกงขาสั้น สวมเสื้อคอกว้างไปวัด
วัยรุ่นเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติบ้านเมืองในอนาคต หากรู้จักศึกษาหาความรู้อย่างถูกวิธี มีค่านิยมทางความคิดที่เหมาะสม และรู้จักวิเคราะห์ พิจารณาข้อมูลข่าวสารต่างๆอย่างมีเหตุผลก็จะสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในการผลักดันประเทศชาติให้เจริญมั่นคงและอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป

Cr.https://non9279.wordpress.com/2012/04/25/article-edu-cult-popomalo/

วัยรุ่น วัยเรียน และความเครียด

ใช่ว่าจะมีแต่ผู้ใหญ่ที่มีความเครียด เด็กวัยรุ่นสมัยนี้ก็มีความเครียดไม่น้อยเหมือนกัน แถมในวัยรุ่นประสบการณ์ และทักษะในการจัดการกับปัญหาต่างๆที่เข้ามายังไม่ดีพอ หากไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ให้ดี อาจจะยิ่งทำให้เกิดผลเสียต่างๆตามมาได้มาก และอาจจะรุนแรงกว่าที่ผู้ใหญ่เป็นด้วยซ้ำ
วัยรุ่นส่วนใหญ่จะมีความเครียด เมื่อมีอยู่ในสถานการณ์ที่อันตราย หรือได้รับความลำบาก ได้รับความเจ็บปวดและไม่สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ สาเหตุที่อาจทำให้เกิดความเครียดในวัยรุ่นได้แก่
·       ความคาดหวัง ความตั้งเป้าทางด้านการเรียน ทั้งจากตนเองและครอบครัว
·       ความคิดในแง่ลบเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตัวเอง
·       การเปลี่ยนแปลงทางสรีระ
·       ปัญหากับเพื่อนที่โรงเรียน
·       อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย หรือเพื่อนบ้านไม่ดี
·       ปัญหาจากในครอบครัว พ่อแม่หย่าร้าง
·       การเจ็บป่วยเรื้อรัง
·       คนที่รักหรือคนในครอบครัวเสียชีวิต
·       มีการย้ายหรือเปลี่ยนโรงเรียน
·       ปัญหาการเงินในครอบครัว
·       มีกิจกรรมมากเกินไปหรือมีความคาดหวังสูงเกินไป
วัยรุ่นหลายคนถูกอัดอยู่ในความเครียดอย่างมาก และนำไหสู่พฤติกรรมต่างๆ เช่น ความก้าวร้าว การแยกตัวออกจากสังคม ความหงุดหงิดโมโหง่าย เกิดโรคทางร่างกาย หรืออาจจะนำไปสู่การใช้ยาเสพติดหรือแอลกอฮอล์
ธรรมชาติของคนเราเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่บีบครั้นจะมีการตอบสนองของร่างกายจิตใจออกมาเป็น "fight, flight, or freeze” ซึ่งจะตอบสนองโดยมีการเต้นของหัวใจและอัตราการหายใจเร็วขึ้นเลือดจะถูกสูบฉีดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมากขึ้นจะมีอาการมือเท้าชา และเย็นมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ อาการพวกนี้จะหยุดลงเมื่อเรารู้สึกว่าปลอดภัยหรือปัญหาเริ่มคลี่คลาย ร่างกายจะเริ่มผ่อนคลายการหายใจ การเต้นหัวใจจะช้าลง ถ้าเราสามารถฝึกการผ่อนคลายร่างกายได้ไม่ว่าจะวิธีใด ก็จะทำให้สามารถจัดการกับการเครียดได้ดีขึ้น

Cr.http://drcarebear.exteen.com/20101118/entry